ประโยชน์ของน้ำมันปลา

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

น้ำมันปลาเป็นอาหารประเภทไขมัน ซึ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันในกลุ่ม Omega-3 ซึ่งมีกรดไขมันที่จำเป็นอยู่ 2 ชนิด คือ

EPA(Eicosapentaenoic Acid) กรดไขมัน EPA มีส่วนช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันหลอดเลือด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป้นสาเหตุในการเกิดโรคหัวใจและสมองอุดตัน นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการข้อเสื่อม ข้อรูมาตอยด์



DHA(Docosahexaenoic Acid) กรดไขมัน DHA มีบทบาทที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาสมองและสายตา ช่วยเสริมสร้างและป้องกันความเสื่อมของสมองการเรียนรู้และความจำ รวมถึงระบบสายตา ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ



สำคัญต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด 

ป้องกันโรคหัวใจและสมองขาดเลือด กรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลา ช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลดไขมันในเลือด ช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง จากผลการวิจัยพบว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจวาย ที่รับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 วันละ 850 มิลลิกรัม/วัน(ปริมาณ EPA+DHA)ร่วมกับวิตามินอีธรรมชาติ 300 มิลลิกรัม/วัน  สามารถลดอัตราการตาย เนื่องจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมองลงได้ถึง 15%



ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน กรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลา เป็นสารตั้งต้นของสารกลุ่มไอโคซานอยด์ ได้แก่ พรอสตาแกลนดิน-3 และทรอมบอกซาน-3 สารกลุ่มนี้จะช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกร็ดเลือด มีส่วนช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดและช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น ลดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ



ช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ผลการวิจัยพบว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลามีประสิทธิภาพที่ดีในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด สามารถช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้ ประมาณ 20-50% ซึ่งประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาที่ใช้ลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ และถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูงถึง 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร น้ำมันปลาก็ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือ ความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย สามารถใช้ร่วมกับยาหรือสารสกัดจากธรรมชาติโพลีโคซานอล ในการลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล



ลดความดันโลหิต จากผลการวิจัยของ John Hopkins Medical School ได้รวบรวมผลการศึกษาจาก 17 รายงานการศึกษาทางคลีนิค พบว่าการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 วันละ 3,000 มิลลิกรัม สามารถช่วยลดความดันล่าง(diastolic pressure)ได้ 3.5 มิลลิเมตรปรอท และความดันบน(systolic prssure)ได้ถึง 5.5 มิลลิเมตรปรอท เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลาจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้ไหลเวียนของเลือดดีขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง น้ำมันปลาจะไม่มีผลต่อความดันในผู้ที่มีความดันปกติ



ลดอาการข้อเสื่อม ข้อรูมาตอยด์ กรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลาสามารถบรรเทาอาการข้อเสื่อมและข้อรูมาตอยด์ เนื่องจากมีผลลดการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบของข้อ เช่น Interleukin-1, Tumor necrosis factor และกรดไขมัน EPA ในน้ำมันปลาเป็นสารตั้งต้นในการสร้าง PGE3 ช่วยลดการอักเสบของข้อ 



ผลการศึกษาจาก Harvard Medical School ทำการรวบรวมผลการศึกษาในผู้ป่วยไขข้ออักเสบ 368 ราย ที่รับประทานน้ำมันปลาพบว่าช่วยลดอาการเจ็บและข้อตึงในตอนเช้า การรับประทานน้ำมันปลาเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อเสื่อม ข้ออักเสบเรื้อรังเพื่อบรรเทาอาการปวด แทนการรับประทานยาแก้ปวด ซึ่งมีผลข้างเคียงตับ ไต และกระเพาะอาหาร



การวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Surgical Neurology ระบุว่าน้ำมันปลาสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดคอ หรือปวดกลังเรื้อรัง โดยทำการศึกษากับผู้ป่วย 250 คน ได้รับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 วันละ 2,600 มิลลิกรัม(ปริมาณ EPA+DHA) ในช่วง 2 สัปดาห์แรก หลังจากลดปริมาณลงเหลือวันละ 1,200 มิลลิกรัม (ปริมาณ EPA+DHA)พบว่าหลังจากรับประทานน้ำมันปลา 75 วัน ผู้ป่วยประมาณ 59% สามารถเลิกรับประทานยาแก้ปวดต่างๆ ผู้ป่วยประมาณ 60% พบว่าอาการปวดหลัง  และปวดคอลดลง และผู้ป่วยกว่า 88% รู้สึกพึงพอใจกับผลที่ได้รับและยืนยันจะรับประทานน้ำมันปลาต่อ



บำรุงสมอง เสริมความจำ ป้องกันโรคสมองเสื่อมเสื่อมการทำงานของเซลล์สมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อมจากการศึกษาพบว่า 40% ของกรดไขมันในสมองและ 60% ของกรดไขมันในประสาทตา คือ กรดไขมัน DHA 


กรดไขมัน DHA มีบทบาทสำคัญและจำเป็นต่อสมอง ผลการวิจัยทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัย UCLA ของอเมริกา พบว่าการรับประทานน้ำมันปลาช่วยป้องกันสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)ได้ เนื่องจาการศึกษาเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุกว่า 1,000 คน เป็นเวลา 10 ปี พบว่าระดับกรดไขมัน DHA ลดต่ำลงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมได้



ลดภาวะซึมเศร้า จากผลการวิจัยพบว่าผู้ที่บริโภคปลาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีอัตราเป็นโรคซึมเศร้าต่ำ เพราะสมดุลของกรดไขมันในร่างกาย มีผลต่อความรุนแรงในการเกิดโรคซึมเศร้า คนที่มีระดับกรดไขมันโอเมก้า-3 ต่ำ และกรดไขมันโอเมก้า-6 สูงมีภาวะเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าปกติ 



เบาหวาน  เบาหวานชนิดที่สองมักพบในผู้ใหญ่ที่อ้วน ซึ่งนักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์ค้นพบว่ากรดไขมัน EPA ในน้ำมันปลา ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด



ปวดไมเกรน กรดไขมัน EPA ในน้ำมันปลา มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารพรอสตาแกลนดิน และลดการหลั่งซีโลโทนินทำให้การเกาะตัวของเกล็ดเลือดลดลงในระยะที่มีการบีบตัวของหลอดเลือดในสมอง จึงมีส่วนช่วยลดอาการไมเกรน



หอบหืด การรับประทานน้ำมันปลาช่วยลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ที่เป็นตัวสำคัญให้เกิดอาการหอบหืด คือ สารลิวโคไตรอินและพรอสตาแกลนดิน การรับประทานน้ำมันปลาอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้